วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

วงการแพทย์ไทย.... และ ระบบ ความยุติธรรม ไทย หรือ ชะตากรรมของชีวิต...ของ หัวอกแม่

20 ปีคดีอัปยศ จากหัวใจ....แม่...เพื่อ...ลูก...
• หาก เด็กคนนี้ เป็นลูกคุณบ้าง...คุณจะทำฉันใด
o หาก คุณเป็นแม่...คนนี้ จะทำอะไร อย่างไร ต่อไป.....
o หากเป็น...เรา...จะทำอย่างไร ต่อไป.....

"อีกเจ็ดวันครบ 20 ปี ที่แม่อย่างฉันตามหาความเป็นธรรมให้ลูกที่ได้รับความเสียหายจากการทำคลอดของรพ.พญาไท 1 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ฉันไม่ได้สู้เพื่อลูกเท่านั้นฉันสู้เพื่อผู้คนในสังคมจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อเหมือนครอบครัวฉันอีก"
ปรียนันท์……เป็นหญิงท้องแรก ฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ของรพ.พญาไท 1 พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บท้องคลอดเธอไปโรงพยาบาล แพทย์ติดดูแลคนไข้อื่น และสั่งให้ยาเร่งคลอดทางโทรศัพท์โดยไม่มาตรวจครรภ์ เมื่อใช้ยาเร่งคลอดไม่ได้ผลแพทย์พยายามช่วยคลอดด้วยการใช้เครื่องดูดดึงแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเด็กอยู่ในท่าผิดปกติคือหงายหน้าออก(OPP) หลังผ่าตัดทำคลอด เด็กมีน้ำหนักมากถึง 4,050 กรัม บริเวณท้ายทอยมีรอยบวมน่วมก้อนโตที่เกิดจากการใช้เครื่องดูด
              หลังคลอดเด็กตัวเหลืองมากส่องไฟไม่ลด กุมารแพทย์เปลี่ยนถ่ายเลือดผ่านสาย สะดือ เกิดการติดเชื้อ มีไข้สูง สะดือแฉะมีหนองสีเหลือง ร้องกวนมาก น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง ตรวจพบเม็ดเลือดขาวสูงมาก แต่แพทย์มิได้ให้ยาปฏิชีวนะ มีการเจาะเลือดเพื่อเพาะเชื้อ แต่ไม่ทันทราบผลก็จำหน่ายเด็กออกจากโรงพยาบาล  การติดเชื้ออย่างรุนแรงโดยไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ทำให้ ข้อสะโพกซ้ายของเด็กติดเชื้ออย่างรุนแรงถูกเชื้อโรคทำลายจนสลายไป กลายเป็นความทุกข์ทรมานและเป็นปัญหาเรื้อรังของเด็กไปตลอดชีวิต
           ปรียนันท์ฯ......อุ้มลูกกลับไปขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ อ้างว่าลูกของเธออาจติดเชื้อจากที่ใดก็ได้คนเราเป็นหวัดก็ติดเชื้อไวรัสจาก อากาศ จะช่วยรักษาให้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายปกติ จะลดให้บ้างเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรับผิด เพราะไม่ได้ทำผิดพลาด ใด ๆ เธอจึงอุ้มลูกกลับบ้านด้วยความช้ำใจ
น้องเซ้นต์เจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดหลายครั้ง ปรียนันท์ฯ ทุ่มเทค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลูกจำนวนมาก จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ก็ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาความเสียหายได้ ปัจจุบันลูกของเธอข้อสะโพกซ้ายไม่มี ขาสองข้างไม่เท่ากัน เดินกระเผลก นั่งขัดสมาธิไม่ได้ หลังคดปวดขาทุกคืน ข้อแขนซ้ายถูกทำลายและมีร่องรอยของกระดูกต้นแขนหัก สั้นและอ่อนแรงกว่าแขนขวา แกว่งแขน 360 องศาไม่ได้บริเวณท้าย ทอยมีรอยเครื่องดูดและผมขึ้นน้อย หลังอายุ 20 ปี ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทุก 10 ปี การเคยติดเชื้อในกระดูกทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ ข้อเทียมที่เหมาะสม ต้องทำจากไทเทเนียมและเซรามิคซึ่งมีราคาสูงมาก และสิทธิบัตรทองไม่ครอบคลุม
                 วิบากกรรม...ของการต่อสู้
ปรียนันท์ฯ     ร้องเรียนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย รวมทั้งดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เจ้าของโรงพยาบาลซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อขอคัดถ่ายสำเนาเวชระเบียนเพื่อนำไปรักษาลูก ก็ถูกท้าทายให้นำทนายความไปฟ้องเอา

ฟ้องโรงพยาบาลพญาไท 1
ปรียนันท์ฯฟ้องรพ.พญาไท 1และแพทย์ผู้รักษา เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ระหว่างนั้นดร.อาทิตย์ฯ เจ้าของรพ.เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมากิจการรพ.พญาไท 1 ถูกเปลี่ยนมือบริหารโดยนายวิชัย ทองแตง (ทนายความคดีซุกหุ้ของดร.ทักษิณ ชินวัตร) เธอใช้เวลาต่อสู้คดีนานถึง 9 ปี ศาลชั้นต้น, อุทธรณ์และฎีกา พิพากษายกฟ้องเพราะคดีหมดอายุความทางแพ่งหนึ่งปี (เหตุเกิดปี2534 ยื่นฟ้องปี 2539 รอมติแพทยสภา) แม้จะต่อสู้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา เนื่องจากลูกของเธอได้รับอันตรายสาหัสจนถึงขั้นพิการ ต้องนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าคือ 10 ปี แต่ศาลฎีกาให้เหตุผลว่าเธอบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบคดีอาญา นับอายุความที่ยาวกว่าไม่ได้ จึงพิพากษายืน (คดีสิ้นสุดแล้ว) คดีนี้เธอถูกยึดค่าธรรมเนียมศาลละสองแสนบาท ถูกศาลปรับให้จ่ายค่าทนายให้รพ.พญาไท 1 อีก 1 แสนบาท ทำให้เธอถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ระหว่างนั้นคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่าเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลอ้างว่าศาลตัดสินว่าโรงพยาบาลไม่ผิดจึงไม่ยอมเจรจา ทั้งที่ศาลตัดสินว่าคดีหมดอายุความ ยังไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด
         (ปัจจุบันรพ.พญาไท1 เปลี่ยนเจ้าของเป็นของนพ.ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ เจ้าของรพ.กรุงเทพฯ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์)

ถูกฟ้องกลับ 100 ล้าน
เมื่อ ใช้กฎหมายไม่เป็นผล ปรียนันท์ฯ ไปถือป้ายประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลคู่กรณี พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อทั้งวิทยุ,หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เป็นเหตุให้คู่กรณี(สมัยนายวิชัย ทองแตงบริหาร) ฟ้องเธอ 2 คดีทั้งทางแพ่งและอาญา ข้อหาละเมิดและหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท

คดีอาญา
 ใช้เวลาต่อสู้นาน 5 ปี ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคำพิพากษาระบุว่า “เห็นว่าจำเลยได้ยื่นร้องเรียนตามสิทธิข้อกฎหมาย เป็นการแสดงเพื่อความสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันผลกระทบด้านความปลอดภัยของชีวิตและครอบครัวการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิด” (คดีสิ้นสุดแล้ว)
คดีแพ่ง
รพ.พญา 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเธอ 100 ล้านบาทใช้เวลาต่อสู้นาน 7 ปี ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาระบุว่า “เห็นว่าคำกล่าวของจำเลย เป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจเพื่อความชอบธรรมและปกป้องสิทธิตามครองธรรม จึงไม่เป็นการละเมิด พิพากษายืน” คู่กรณียื่นฎีกา (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา)
    เกี่ยวกับคดีนี้
1.คู่กรณีร้องขอให้ศาลออกคำสั่งปิดปากเธอไม่ให้ออกสื่อ มีการไต่สวนและออกคำสั่งลับหลังโดยเธอไม่ได้ไปศาลทนายฝ่ายรพ.พญาไท 1 แถลงว่าส่งหมายแล้วเธอไม่มาศาลทั้งที่หมายไม่เคยออกจากศาล  เธอขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งเดิมขอให้มีการไต่สวนใหม่ ศาลยกเลิกคำสั่งเดิมที่มิชอบด้วยกฎหมายและให้ไต่สวนใหม่แต่ก็ออกคำสั่งปิดปากเหมือนเดิม
2.คู่กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหาย100ล้านบาท ศาลให้เธอชนะแต่ไม่สั่งให้รพ.พญาไท1 จ่ายค่าทนายให้ฉันแม้แต่บาทเดียว ช่างต่างกับคดีที่เธอฟ้องรพ.57 ล้านเมื่อศาลยกฟ้อง ศาลสั่งให้เธอจ่ายค่าทนายให้รพ.ตั้งหนึ่งแสนบาท ทั้งที่คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติว่ารพ.ผิด
          ปรียนันท์......ไม่ยอมถอย
เมื่อถึงทางตันกับคำว่า “หมดอายุความ” แต่การละเมิดสิทธิเด็กยังคงอยู่ ปรียนันท์ฯ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มีมติอย่างตรงไปตรงมาว่า
(1)  แพทย์ผู้ทำคลอดและกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท1 ประมาทเลินเล่อรวมทั้งโรงพยาบาลพญาไท 1 ไม่มีมาตรการแก้ไขเยียวยา จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงให้ช่วยเหลือเยียวยา ทันที (แต่รพ.พญาไท 1 เพิกเฉยไม่ทำตามมติ)
(2) กระบวนการตรวจสอบของแพทยสภาไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องให้รื้อฟื้นเรื่องขึ้น พิจารณาใหม่ภายใน 30 วัน (กระทรวงสาธารณสุข ยุคนายไชยา สะสมทรัพย์ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจในการรื้อคดีใหม่ โดยแพทยสภาได้เข้าชี้แจงเพียงฝ่ายเดียว)

กสม.ก็ไม่ยอมถอย
เมื่อกสม.ไม่สามารถบังคับให้รพ.พญาไท 1 และแพทยสภาให้ทำตามมติได้ จึงรายงานนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ให้มีบัญชาภายใน 60 วัน แต่นายสมัครฯไม่มีบัญชา (พี่สาวของนายสมัครฯ เป็นกรรมการแพทยสภาชุดที่ปรียนันท์ฯ ฟ้อง)

กสม.จึงเดินหน้ารายงานต่อประธานรัฐสภาและวุฒิสภา เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนาน 4 ชั่วโมงในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ซึ่ง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งกรรมการไกล่เกลี่ยเสนอให้เธอรับเงิน 5 แสนบาทและให้ยุติเรื่อง แต่เธอขอให้คู่กรณีแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาเสียก่อน แล้วค่อยพูดถึงการเยียวยาแต่คู่กรณีปฏิเสธ
          ขณะที่รัฐบาลให้เหตุผลว่านอกเหนือวิสัยที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงได้ เนื่องจากเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชน
          ฟ้องแพทยสภา
เธอร้องเรียน แพทยสภา เรื่องเงียบนานเกือบ 3 ปี พอเธอยื่นฟ้องโรงพยาบาล แพทยสภาก็รีบมีมติว่าเรื่องของเธอเป็น”คดีไม่มีมูล” โดย ไม่เคยเรียกเธอชี้แจง และละเว้นไม่สอบสวนนพ.สุรพงษ์ อำพันวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลที่นั่งออกรายการทีวีคู่กับพญ.ประสบศรี อึ้งถาวร รองเลขาธิการแพทย สภาผู้เซนต์มติรวมทั้งคู่กรณีทำรายงานเท็จขัดต่อข้อเท็จจริงในเวชระเบียน

ความไม่ชอบมาพากลทำให้ปรียนันท์ร้องขอให้แพทยสภารื้อคดีใหม่ แต่แพทยสภายกคำร้องไม่รื้อคดีใหม่ แม้จะมีกรรมการสองท่านให้ความเห็นแย้งว่า”คดีมีมูล” และการวินิจฉัยมีความล่าช้าไม่ทันท่วงทีก็ตาม มิหนำซ้ำยังมีนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการแพทยสภาเสนอให้ลบรายงานการประชุมส่วนที่มีความเห็นแย้งออกด้วย
เธอจึงฟ้องแพทยสภาทั้งคณะ 33 คน เป็นคดีอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลใช้เวลา 6 ปีในการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้น, อุทธรณ์และฎีกาพิพากษาไม่รับฟ้อง
คำพิพากษาระบุว่า“..แม้จะเป็นความจริงว่าเป็นการช่วยเหลือแแพทย์ผู้ถูกร้องไม่ให้ถูกลงโทษ ก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบกระเทือนสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยตรงแต่ประการใด โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องแพทยสภาทั้ง 33 คน”
      ปรียนันท์ฯ...........เลือกไม่ดำเนินคดีอาญา ต่อแพทยสภาอีก เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิฯ มีมติแล้วว่า แพทยสภาผิด สังคมรับรู้แล้วว่าแพทยสภาผิด เธอไม่ประสงค์จะให้ใครติดคุก เพียงแค่ต้องการปรามไม่ให้แพทยสภาทำกับคนอื่นในสังคมอีก แต่กลับเป็นเหตุให้แพทยสภานำคดีนี้เป็นบรรทัดฐาน ต่อสู้กับผู้เสียหายที่ฟ้องแพทยสภาเป็นคดีอาญา แทบทุกคดี
          ความเสียหายใหม่
ต่อมาในปี2551เมื่อน้องเซ้นต์อายุได้ 17 ปี มีอาการปวดหลังร้าวลงไปที่ขาอย่างรุนแรง หลายครั้งไม่สามารถนอนหลับลงได้ ผลการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เมื่อ 14 มิ.ย. 51 พบว่า “กระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับไขสันหลังและเส้นประสาท” เป็นความเสียหายใหม่ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากความเสียหายเดิม
        ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย..อีกครั้ง
ปี 2551 ประเทศไทยมีกฎหมายใหม่ “พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551” มาตรา 13 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย...เป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาใการแสดงอาการ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ....”
19 พ.ค. 52
ปรียนันท์ฯ ฟ้องรพ.พญาไท 1 เป็นคดีผู้บริโภค ทางรพ.พญาไท 1 (ยุคนายวิชัย ทองแตง) ไม่ประสงค์เจรจาไกล่เกลี่ย และต่อสู้โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นคดีฟ้องซ้ำและหมดอายุความ
28 ก.ค. 52
  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องว่า “ฟ้องซ้ำและหมดอายุความ” ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมช่วยดูแลเรื่องคดีความ

“กว่า 20 ปี ที่แม่อย่างฉันอดทนต่อสู้หาความเป็นธรรมให้กับลูก เพราะเชื่อตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง” แต่จนถึงทุกวันนี้ผู้บริโภคอย่างฉันกับลูกไม่เคยได้รับการคุ้มครอง มีแต่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองแทบทั้งสิ้น

ฉันร้องเรียนหลายหน่วยงานทุกวิถีทาง แต่ไม่มีเส้นทางไหนเข้าถึงความยุติธรรมได้เลยเพราะระบบเส้นสายอุปถัมภ์ที่มีอยู่จริงในบ้านเมืองเป็นอุปสรรค  หลายครั้งฉันรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง  แต่ก็ไม่เคยถอยให้กับความไม่ถูกต้อง จนทุกวันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม  มากกว่าเรื่องลูกซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ฉันอดทนต่อสู้จนผู้คนในสังคมบางคนตราหน้าว่าฉันนั้น บ้า โง่ ตลก ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่ฉันกลับเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันรังแกประชาชน ของอำนาจรัฐ อำนาจตุลาการ ถ้าปล่อยเรื่องนี้หลุดรอดการตรวจสอบ  ต่อไปชาวบ้านจะอยู่กันได้อย่างไร  ทุกคนมีเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกวัน  หมอก็มีผิดพลาดทุกวัน   แล้วประชาชนที่ไม่มีเส้นสายจะหาความเป็นธรรมได้จากใคร
        โรงพยาบาลพญาไท 1 และแพทยสภา คงไม่รับรู้ว่าท่านได้ทำบาปทำกรรม   ทำลายครอบครัวที่บริสุทธิ์ครอบครัวหนึ่งจนพังพินาศสิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตครอบครัวเหมือนแพแตก แยกไปคนละทิศละทาง สามีฉันบากหน้าไปทำงานขายแรงงานที่ต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาไว้รักษาลูกในอนาคต แต่ก็ไปได้รับอุบัติเหตุตกจากหลังคาที่ไปรับจ้างซ่อม จนกระดูกสันหลังหัก ยังต้องรักษาตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง  (ปัจจุบันสามีกลับมาอยู่กับครอบครัวแล้ว  แต่ก็ทำงานหนักไม่ได้ เพราะปวดและหลังแข็ง บ่อย ๆ ในอนาคตก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร)
              แม้จะแบกรับเรื่องส่วนตัวและเรื่อง ส่วนรวมหนักเพียงใด แต่ฉันก็ยืนหยัดที่จะสู้ เพียงเพื่ออยากเห็นความถูกต้อง และอยากเห็นวงการแพทย์ วงการศาล มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ฉันรู้ว่าไม่มีแพทย์คนไหนตั้งใจทำพลาด แต่ในเมื่อพลาดแล้วควรจะรับผิดชอบช่วยเหลือดูแลเยียวยาผู้เสียหายบ้าง  ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบไม่พูดคุยปล่อยให้เผชิญชะตากรรม    เห็นชาวบ้านไม่มีความรู้ก็ท้าทายให้ฟ้อง   มิหนำซ้ำยังอาศัยความเหนือกว่าทุกด้านรังแก และยืมมือกฎหมายฟ้องกลับ ทำให้ผู้เสียหายต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการสู้คดีหนักเข้าไปอีก
           ฉันคือคนที่นอนอยู่กับปัญหามาอย่างยาวนาน จนหมอบางคนเรียกฉันว่า"นางปีศาจร้ายวงการแพทย์" ขอทำนายอนาคตของสังคมไทยว่า  หากขืนปล่อยให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ต่อไป “ความเป็นธรรมไม่มี สันติสุขไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
ฉันขอฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ว่า ขอให้แก้ไขในสิ่งผิด ขอให้เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี หยุดการกล่าวให้ร้ายฉันว่าเป็นคนคุยไม่รู้เรื่อง ต่อสู้ด้วยความอาฆาตแค้น ปล่อยให้ลูกเดินกระเผลกเพื่อเรียกร้องความสนใจ ต้องการฟ้องร้องเพื่อให้ได้เงินเยอะ ๆ หรือไม่ตัดรองเท้าให้ลูกใส่ ที่ผ่านมารพ.พญาไท 1 ไม่เคยรับผิดชอบใด ๆ ทิ้งภาระให้ฉันเสียค่ารักษาผ่าตัด ดูแลลูกจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ลูกทุกปีล่าสุดหมดไป 36,000 บาท และทำพื้นรองเท้าเสริมด้านใน 4,800 บาท(เสริมด้านนอกสูงมากเดินแล้วเท้าพลิก) ค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ขอให้หยุดทำร้ายครอบครัวฉันเสียที และปีนี้ลูกฉันอายุครบ 20 ปีต้องได้รับการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมแล้ว ใครจะยื่นมือเข้ามาแก้ไขในสิ่งผิด หากวงการแพทย์ไทยนิ่งเฉยฉันก็จะดิ้นรนทางอื่นต่อไป

……ทุกขั้นตอนการต่อสู้มีความอัปยศอดสูที่ฉันได้บันทึกเอาไว้อย่างละเีอียด โปรดเข้าไปอ่านต่อได้ที่  http:/www.thai-medical-error.blogspot.com หรือคลิกเข้าไปอ่านหนังสือที่ฉันเขียน "นางปีศาจร้ายในสายตาหมอ"……ได้ที่นั่นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น