วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

นี่แหละความเป็นธรรมที่เราไขว่หาจากประชาชน แต่หาไม่เจอจากระบบข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ ไทย


มือตบซี 7’ ...ได้ซี 7  ในระบบราชการไทยไง??


      ในที่สุด บทสรุปของกรณีที่ข้าราชการซี 7 ของกรมสรรพากร  ตบบ้องหูของพนักงานสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากไม่พอใจที่ ศิริชัย ใหม่ชุ่ม พนักงานตรวจสอบความปลอดภัย ของบริษัทเอเชีย ซีเคียวรีตี้เมเนจเมนท์ ได้ขอตรวจค้นบริเวณจุดตรวจค้นอาวุธภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ออกมาสู่สังคม  ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  แสวงหาสำนึกไม่มี...???
   
       เป็นไปดังที่หลายคนคาด เพราะสุดท้ายแล้ว ผลสอบก็ออกมาว่า   
สมบัติ ชาติไชยไววิทย์  ซึ่ง ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริการผู้โดยสารที่ 1 ของกรมศุลกากร นั้นไม่ได้ทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง เนื่องจากมีอาการทางประสาท และ  ส่งผลให้เขาต้องหยุดพักไปรักษาตัวเป็นเวลา 2 เดือนเท่านั้นเอง
   
       ซึ่งผลสอบที่ออกมาทำให้หลายคนสงสัยแท้ว่าแล้วการลงโทษทางวินัยของข้า ราชการนั้นมีมาตรฐานอย่างไรกันแน่ และถ้าข้าราชการคนนี้ป่วยจริง เหตุใดเขาจึงยังสามารถทำงานมาได้ตามปกติก่อนหน้านี้? หรือว่าแท้แล้ว เรื่องของอาการป่วยอาจจะเป็นเพียงข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงโทษทางวินัย?
   
       
โทษทางวินัยของทางราชการ
   
       สำหรับประเด็นเรื่องของการลงโทษทางวินัยของข้าราชการนั้น นนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือที่รู้จักกันดีในนาม ก.พ. เล่าให้เราฟังว่า
   
       “การลงโทษทางวินัยนั้นมีตั้งแต่การตักเตือน การลดเงินเดือน ไล่ไปเรื่อยถึงการให้ออกจากราชการ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของฐานความผิด ถ้ายิ่งร้ายแรงโทษก็จะยิ่งหนัก คือเรื่องที่ร้ายแรงนั้นก็กำหนดไว้ในกฎหมาย อย่างเช่นการทุจริตในหน้าที่นั้นถือเป็นการผิดวินัยร้ายแรงแน่นอน บางอันมติ ครม. ก็กำหนดไว้อย่างเช่นถ้าขาดราชการโดยไม่มีเหตุอันควร 15 วันต่อเนื่อง ก็เป็นการผิดวินัยร้ายแรงเช่นกัน มันมีกำหนดไว้ทั้งในกฎหมาย ในมติ ครม. และมติ ก.พ.
   
       นนทิกร ยังได้กล่าวถึงกรณีของข้าราชการซี 7 คนนั้นไว้ว่า การพิจารณามันอยู่ที่การสอบสวน และกรรมการวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นๆ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นความผิดในระดับใดตามที่ตราไว้ในกฎหมาย
   
       สำหรับ เรื่องของอาการทางประสาทที่ข่าวออกมานั้น มันน่าสนใจว่าเขาป่วยมาก่อนหน้านี้แล้ว หรือเพิ่งมาป่วยเพราะได้รับความกดดันหลังจากเกิดเรื่อง ซึ่งมันทำให้เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ ถ้าเป็นกรณีแรกก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นอย่างหลังก็ไม่น่าจะปรานีเท่าไร
   
       ส่วนประเด็นที่ว่าถ้าคนคนนี้ป่วยมาก่อน เหตุใดจึงรับเขาเข้ามาทำงานนั้น นนทิกรกล่าวว่า ในตอนที่เขาสมัครเข้ามาตอนแรกเขาคงยังไม่ได้ป่วย เพราะถ้าป่วยในตอนสัมภาษณ์งานก็คงจะไม่ผ่าน ส่วนการที่ข้าราชการคนนี้ต้องพักราชการไปรักษาตัว 2 เดือนนั้น มันก็ไม่ได้เข้าข่ายของการลงโทษทางวินัยด้วย
   
       “มันไม่ใช่การลงโทษทางวินัยนะ ซึ่งตรงนี้การลงโทษทางวินัยนั้นมันคนละอย่างกับโทษทางอาญาที่เขาจะได้รับ ด้วย ส่วนเรื่องที่ว่าจะหายป่วยและกลับมาทำงานได้หรือไม่ ก็ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ถ้าไม่หายขาดก็อาจจะต้องย้ายเขาไปทำงานที่ ไม่มีความกดดันทางอารมณ์ ส่วนตัวแล้วเรื่องแบบนี้ต้องรอคำวินิจฉัยจากแพทย์เป็นสำคัญ
   
       
แล้วแบบไหนถึงจะเรียกว่า ป่วย
   
       แน่นอนว่าไม่มีใครจะอธิบายถึงเรื่องของความป่วยไข้ได้ดีกว่าหมอ ซึ่ง นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผู้ อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา อธิบายว่าขอบเขตของความว่า อาการทางจิตนั้นกว้างมากๆ แต่ก็สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่หลักๆ ได้ 2 ประเภทก็คือ เป็นอาการของโรค และเป็นบุคลิกภาพดั้งเดิม ซึ่งสำหรับกรณีของข้าราชการซี 7 ที่มีการระบุว่า ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 ทางเช่นนี้ ซึ่งทางที่ดีควรจะได้พิจารณาจากพื้นฐานของประวัติเป็นหลักว่า พฤติกรรมเช่นนี้เพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ หรือเป็นมาตั้งนานแล้ว
   
       “หากเป็นอาการป่วยที่เป็นตัวโรค ผมคิดว่า 2 เดือนก็พอรักษาได้ แต่ถ้าเป็นบุคลิกภาพ เช่น เป็นคนฉุนเฉียวง่าย เข้าสังคมไม่ได้แต่เดิม ก็จะยากหน่อย ไม่เหมือนกับตัวโรคที่จะมาเกิดทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาการของโรคจิต หูแว่วประสาทหลอน การจะรักษาได้ดีมากน้อย ก็ขึ้นอยู่ปัจจัยที่เกี่ยวกับคน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
   
       สำหรับ กรณีนี้ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เราก็ต้องไปดูว่า คนคนนี้เขามีปัญหามาตั้งแต่เมื่อไหร่ หากมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ก้าวร้าวมาตลอดบวกกับปัจจัยอื่นอีกเล็กน้อย แบบนี้น่าจะเป็นบุคลิกภาพ แต่ถ้าเดิมเขาเป็นคนเรียบร้อย ใจเย็น แต่หลายเดือนมานี้เปลี่ยนเป็นคนฉุนเฉียวง่าย ลงไม้ลงมือ ด่าทอบ่อย หรือชกต่อย แบบนี้ก็ต้องสงสัยว่าเป็นตัวโรค
   
       ซึ่งกระบวนการรักษา หลักๆ ก็มีตั้งแต่การกินยา และจิตสังคมบำบัด
   
       “ถ้าเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าตอบสนองจากยาใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ส่วนพวกโรคจิต หูแว่วประสาทหลอนก็เหมือนกัน 3-4 สัปดาห์ก็จะเห็นผล ขนาดที่โรควิตกกังวลประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็น่าจะได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน ใช้ยาได้ตรง ขนาดเหมาะสม การรักษาก็จะเร็วขึ้น และสามารถหายขาดได้ แต่ถ้าเกิดจากบุคลิกภาพ ส่วนใหญ่คนที่เป็นจะไม่ค่อยยอมรับ แล้วก็จะมองว่าคนอื่นไม่ดี
   
       
ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน
   
       แต่จากผลการสอบสวนที่ประกาศออกมาว่าการไปไล่ตบบ้องหูคนนั้น ไม่ใช่ การกระทำผิดวินัยร้ายแรงมัน ก็ทำให้คนหลายคนตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการปกป้องพวกพ้องหรือไม่ เพราะเท่าที่ผ่านมาคล้ายกับว่าเรื่องของการปกป้องพวกพ้องนั้น มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไปแล้ว ถึงกับมีคำกล่าวที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน
   
       ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎี เจริญสุข อาจารย์ ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า วัฒนธรรมของการปกป้องพวกพ้องที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเป็นปกติทุกที่ในทุกสังคม และถ้าหากเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งก็จะส่งผลเสียต่อสังคมได้
   
       “ที่ไหนมันก็มีวัฒนธรรมของการรักพวกพ้อง แต่ถ้าทำแล้วให้มันเกิดความก้าวหน้าเพื่อให้ทำงานเป็นทีมได้มันก็ดี แต่ถ้าเพื่อเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวมันก็จะก่อให้เกิดผลเสียได้
   
       เหตุและปัจจัยของการปกป้องพวกพ้องนั้น เธอเห็นว่า มาจากหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการมีผลประโยชน์ร่วมกัน การเชื่อว่าพวกพ้องของตนดีจริงจึงช่วยเหลือ ซึ่งอาจเกิดจากการมีข้อมูลไม่มากพอ หรือเคยเห็นบทบาทของเขาในการทำงานเพียงด้านเดียว ซึ่งพฤติกรรมการรักพวกพ้องนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
   
       ใน แง่ดีก็คือการปกป้องพวกพ้องเพื่อความถูกต้อง แต่ถ้าเกิดจากการเห็นแก่ผลประโยชน์มันก็ไม่ดี จริงๆ แล้วเป็นในทุกสังคม แต่สังคมไทยอาจจะเยอะหน่อย และมันจะมีเยอะในสังคมที่ไม่ค่อยมีเหตุผล โดยวิธีการปกป้องมันก็มีตั้งแต่เรื่องของการช่วยเหลือให้ข้อมูลที่จะช่วยให้ แก้ไขปัญหาได้ เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ ให้ข้อคิดเห็นการแนะนำ และอาจจะช่วยเป็นเครือข่ายในการหาคนมาช่วยเหลือวิธีการก็อาจจะมีหลากหลาย และถ้าการปกป้องนั้นทำไปโดยรักแต่พวกพ้องโดยไม่เห็นแก่ส่วนรวม ก็จะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นมาในสังคม แล้วถ้าเครือข่ายนั้นเป็นเครือข่ายใหญ่ สังคมก็จะล่มสลายในที่สุด เพราะคนอื่นเขาก็สูญเสียความยุติธรรมที่เขาควรจะได้รับ
   
       และที่ผ่านมาในวงการราชการไทยนั้น ถือได้ว่ามีวัฒนธรรมปกป้องพวกพ้องที่เยอะอยู่ ซึ่งทางออกนั้นอาจจะต้องมองไปที่หลักคุณธรรม หรือธรรมาภิบาลที่เป็นสิ่งสำคัญ
   
       ...........
   
       ก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ว่าสุดท้ายแล้ว ความยุติธรรมในสังคมไทยนั้น ยังเป็นเรื่องที่หาได้ยาก คนที่ทำผิด ถ้าหากมีพวกมีเส้นมีสายหรือมีเงินมีอำนาจก็อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ ตัวเองกระทำลงไปอย่างเต็มที่
   
       
อย่า ว่าแต่ในระบบราชการ-  รัฐวิสาหกิจไทยๆ  หรือการเมืองเลย ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่น หรือ  ในระดับชาติก็มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นให้เห็นกันจนเบื่อ ที่ผ่านมากฎหมายขื่อแปของบ้านเมือง มันก็มักจะมีผลบังคับใช้แบบเต็มๆ กับ ตาสีตาสาเท่านั้น ส่วนกับคนใหญ่คนโตนั้นอย่าไปหวังเลยว่าเขาจะกระเทือน  ยิ่งกรมนี้  ด้วยแล้ว...555
 กรมไหนๆก็เช่นกัน  คนใหญ่โกงกิน แล้วก็โยนไปให้คนเล็กๆตาดำๆ รับกรรมไป...ก็แค่นั้น  แล้วก็รอรับเงินเดือน  เกษียณ  ก็รับบำเหน็จ  บำนาญ ต่อไป  ไม่มีอะไรเกิดขึ้น...ระบบราชการ  รัฐวิสาหกิจ เมืองไทย