วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์ปฎิรูปประเทศไทย ....อีกวาระของ เครือข่ายภาคประชาสังคม

ยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปประเทศไทย 10 ข้อ 

ของอ.ประเวศ วะสีและเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เป็นแนวคิดที่ควรจะช่วยกันวิจัยและพัฒนา ต่อ
1. สร้างจิตสำนึกใหม่ ปรับจิตสำนึกและวิธีคิดใหม่ ออกจากการดูถูกตัวเองว่าต่ำต้อย เป็นไพร่เป็นข้าภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ไปสู่สำนึกใหม่ในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีศักยภาพที่จะทำอะไรดี ๆ ขยันขันแข็ง พึ่งตนเองได้ เปิดเผย จริงใจ ใช้เหตุใช้ผล ใช้ความรู้ ร่วมมือกันสร้างสรรค์ชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด’

ผมเห็นว่าการจะสร้างจิตสำนึกใหม่ได้ต้องกล้าท้าทายจิตสำนึกเก่าและอธิบายให้ คนทั่วไปเข้าใจว่าจิตสำนึกเก่าทำให้สังคมไทยมีปัญหาอย่างไร ปัญหาจริงคือ จิตสำนึกเก่า(จารีตนิยม, ระบบอภิสิทธิชนนิยม-คนบางคนมีสิทธิเหนือคนอื่น) ยังคงตกค้างอยู่มากแม้ในหมู่ปัญญาชน ส่วนจิตสำนึกใหม่ (เสรีนิยม, สังคมนิยมประชาธิปไตย)ยังพัฒนาได้น้อยมาก เรายังคิดและอภิปรายแยกแยะว่าอะไรเก่าอะไรใหม่ได้ไม่ชัดเจน(เช่นกลุ่มที่ เสนอสร้างการเมืองใหม่ แนวคิดบางเรื่องยังจารีตนิยมมาก) ต้องสร้างเวทีที่เปิดกว้าง เตรียมคนให้พร้อมจะเรียนรู้ รับฟังและอภิปรายว่าอะไรใหม่อะไรเก่ากันอย่างคำนึงถึงเหตุผลและอย่างมีวุฒิ ภาวะ โดยไม่ติดกับการใช้อารมณ์ผูกพันหรือใช้แนวคิดสุดโต่งแบบ 2 ขั้ว
2. สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สร้างอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ รวมเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อมและศีลธรรมเข้ามาด้วยกัน เมื่อมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จะเกิดความสงบสุข สัมมาชีพเต็มพื้นที่จึงควรเป็นเป้าหมายและดัชนีวัดการพัฒนา ไม่ใช่จีดีพี’
ผมเห็นว่าประเด็นสำคัญไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้คนมีงานที่สุจริตทำอย่าง ทั่วถึงเท่านั้น เพราะถึงคนส่วนใหญ่จะมีสัมมาชีพ แต่หากยังเป็นได้แค่แรงงาน เกษตรกรในระบบพันธะสัญญา ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยฯลฯ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดที่เอาเปรียบ นั่นก็ยังไม่ทำให้เกิดความสงบสุขได้ ประชาชนควรเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตร่วมกัน และมีงานที่ให้ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมด้วย ดังนั้นจึงจะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดให้เป็นแบบ สังคมนิยมประชาธิปไตย, แบบสหกรณ์ แบบรัฐสวัสดิการฯลฯ จึงจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสงบสุขได้
’3. สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น กระจายอำนาจไปให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาตัวเองทุกด้านอย่างเต็มที่ และสนับสนุนทุก ๆ ทาง ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทุก ๆ ด้านจะเป็นฐานให้ประเทศเข้มแข็งและมั่นคง หากชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิที่จะพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นอัน แตกต่างจากหลากหลาย ความขัดแย้งรุนแรงจะบรรเทาบางลง’
ตัวการที่ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอไม่ใช่แค่ระบบราชการรวมศูนย์ แต่คือระบบทุนนิยมผูกขาดที่รวมศูนย์ความมั่งคั่งมาอยู่ที่นายทุนและนาย ธนาคาร นายทุนจากเมืองหลวงการจะให้ชุมชนเข้มแข็งได้ จะต้องขจัด/ลดอำนาจทุนผูกขาด กระจายทรัพยากร กระจายทุน ความรู้ การจัดตั้งองค์กร ไปสู่ประชาชนในระดับชุมชนอย่างเป็นธรรม ด้วยการสร้างระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค และสหกรณ์ออมทรัพย์(เครดิตยูเนียน, กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯลฯ)ในระดับชุมชน(และพัฒนาเป็นเครือข่ายระดับชาติด้วย) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนพึ่งตัวเองทางเศรษฐกิจสังคมได้เพิ่มขึ้น ดูแลทรัพยากรและเก็บภาษีในชุมชนได้เอง ทำชุมชนสวัสดิการเอง ลดการพึ่งระบบทุนและราชการส่วนกลาง จากภายนอกลง
4. สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ ทุกคน ทุกองค์กร ทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน ทุกเรื่อง ต้องเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะสร้างจิตสำนึกใหม่ ที่จะปลุกศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ที่จะสร้างสมรรถนะในการสร้างสรรค์ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคม ให้ชาติทั้งชาติเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น และพลังแห่งความสร้างสรรค์’
ยุทธศาสตร์ที่จะปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพขึ้นได้จริง คือการเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนและลดอำนาจบทบาทกระทรวงศึกษาลง การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายหลักประกันการให้การศึกษาที่มีคุณภาพ ที่มีตัวแทนจากครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ปัญญาชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น เข้ามาเป็นคณะทำงานปฏิรูปการศึกษาร่วมกับภาครัฐ โดยให้ภาคประชาชนมีอำนาจใกล้เคียงกับภาครัฐ มีสำนักงานประกันการให้บริการศึกษาแห่งชาติที่เป็นองค์กรมหาชน(แบบสำนักงาน ประกันสุขภาพแห่งชาติ)ทำหน้าที่แทนกระทรวง กระจายงบประมาณ อำนาจสู่ชุมชน สถานศึกษาโดยตรง รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มองค์กรต่าง ๆ จัดการศึกษาได้อย่างหลากหลายและแข่งขันกันในเชิงคุณภาพ โดยรัฐจัดสรรงบส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายคูปองการศึกษาไปที่ตัวผู้เรียนโดยตรง
5. สร้างธรรมาภิบาลในทางการเมือง การปกครอง ระบบความยุติธรรม และสันติภาพ เพื่อจะได้ธำรงบูรณาภาพและดุลยภาพของประเทศ หลีกเลี่ยงวิกฤติและทำให้ประเทศเจริญรุดหน้า’
ปัญหาหลัก คือ ประชาชนยากจน ขาดการศึกษาข้อมูลข่าวสาร ขาดจิตสำนึกและการรวมกลุ่มทางสังคม คิดแบบยอมจำนน หวังพึ่งคนมีอำนาจ จึงต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ จัดประชุมให้การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการและการจัดตั้งองค์กรให้ภาคประชาชน เข้มแข็งขึ้นเป็นด้านหลัก เน้นปฏิรูปจากข้างล่างขึ้นข้างบน
’6. สร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้า ที่ไม่ใช่การแจกการให้อย่างเดียว แต่คำนึงถึงศักดิ์ศรี และศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์ พึ่งตนเอง พึ่งกันเอง รวมตัวกันจัดการเองได้ในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งระบบการเงินของภาคประชาชน’
ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบผูกขาดให้เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือระบบผสม คือยังคงมีระบบทุนนิยมเอกชน ระบบตลาดรวมอยู่ด้วย แต่ต้องขจัดการผูกขาดของทุนใหญ่ ธุรกิจใหญ่ที่จำเป็นและส่งออกได้ให้คงอยู่ต่อไปได้ แต่ต้องเสียภาษีในอัตราสูง ต้องเคารพกฎหมายแรงงานและสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันรัฐต้องเน้นการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค(วิสาหกิจชุมชน)การแข่งขันและการค้าที่เป็นธรรม การพิทักษ์สิทธิของแรงงานและผู้บริโภค
7. สร้างสมดุลของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จะต้องสามารถอนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อม มีการใช้อย่างเป็นธรรม มีการแสวงหาและให้พลังงานอย่างที่จะธำรงบูรณาภาพและดุลยภาพของประเทศ’
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ ปฏิรูปปตท. กฟผ.และรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานอื่น ๆ ให้เป็นของส่วนรวม ทำเพื่อส่วนรวม มากกว่าแค่เป็นบริษัทธุรกิจเอกชนที่รัฐถือหุ้นใหญ่ แต่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเอกชนได้ผลประโยชน์มากกว่าประชาชน เปลี่ยนแปลงสัญญาเพิ่มค่าสัมปทานที่บริษัทนายทุนมาขุดน้ำมันและแก๊สของเราไป ใช้ พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ลมฯลฯ ออกกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องติดเครื่องกรองไอเสียแบบในสิงคโปร์และประเทศ อื่น ออกพันธบัตรและจัดตั้งกองทุนทรัสตีเพื่อรักษาและปลูกสวนป่า โดยเวนคืนและซื้อที่ดินมาปลูกต้นไม้ใหญ่ โดยควรทำให้เป็นหน่วยงานอิสระ เพราะระบบราชการ เช่นกรมป่าไม้หรือทรัพยากรยังมีข้อจำกัดอยู่มาก
8. สร้างระบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล การปฏิรูประบบสุขภาพ มีความก้าวหน้ามากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ และมีการสร้างเครื่องมือใหม่ ๆ ไว้มาก เช่น สวรส. สสส. สปสช. สช.’
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 81 ของประเทศทั่วโลก (ปี 2549) สาธารณสุขไทยยังมีอะไรต้องปฏิรูปอีกมาก เช่นต้องผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น กระจายออกไป อำเภอรอบนอกในต่างจังหวัดมากขึ้น ลงทุนด้านเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ลดมลภาวะ ป้องกันอุบัติเหตุรถยนต์ ความปลอดภัยในที่ทำงานฯลฯอย่างจริงจัง
9. สร้างการวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ ในสภาวะที่ซับซ้อนอันเชื่อมโยงกันหมดทั้งโลก เราต้องมีความสามารถที่จะรู้สภาพและเหตุการณ์ทุกด้านตลอดเวลา เพื่อวาง position และดำเนินยุทธศาสตร์ของประเทศได้ถูกต้อง’
เราต้องสร้างผู้รักวิชาการที่ฉลาดและเห็นแก่ส่วนรวม วิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและลบอย่างใจกว้าง เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันชนชั้นนำและผลักดันให้ผู้บริหารประเทศต้องใช้ ข้อมูลในการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืนมากกว่าเพื่อ ประโยชน์ส่วนตัวของชนชั้นนำ
10. สร้างระบบการสื่อสาร ที่ผสานการสร้างสรรค์ทั้งหมด ระบบการสื่อสารที่ดีสามารถสร้างจิตสำนึกใหม่ ส่งเสริมความตื่นตัวและรวมตัวสร้างสรรค์ประเทศทุกด้าน สร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของคนทั้งประเทศ’
ตัวปัญหาคือการสอนแบบท่องจำ และ กล่อมเกลาทางสังคมแบบอาวุโสนิยม อำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม อภิสิทธิชนนิยม ทางแก้ไขต้องปฏิรูปกันหลายด้านอย่างบูรณาการ ทั้งปฏิรูปวิธีการเลี้ยงดูเด็ก ปฏิรูปการศึกษา สื่อสารมวลชน ศิลปวัฒนธรรม ระบบบริหารราชการ รัฐวิสาหกิจ การปกครองท้องถิ่นฯลฯ ให้เด็กเยาวชน ประชาชนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและอย่างมีหลักฐานยืนยัน มากกว่าใช้อารมณ์ รู้จักรับฟังผู้อื่น เคารพสิทธิผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเป็นประชาธิปไตย เลิกการยกย่องและการให้สิทธิพิเศษชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจและมีฐานะสูง และให้ทุกคนตระหนักว่า การอภิปรายแลกเปลี่ยนอย่างวิเคราะห์อย่างมีเสรีภาพ โดยคนวิจารณ์ไม่ถูกคุมคาม คนที่ถูกวิจารณ์หรือถูกโต้แย้งไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น จะช่วยให้ทั้งสังคมเกิดการเรียนรู้และภูมิปัญญารวมหมู่ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น
                                  สำเนาจากบทความปฎิรูปประเทศไทย….
                                  โดยฝ่าย ปชส.เครือข่ายฯชลบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น